ซื้อ-ขาย ฝากซื้อ ฝากขาย และ สาระน่ารู้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2562

การส่งเสียงดังผิดกฏหมายอย่างไร?


การอาศัยอยู่ร่วมกับคนหมู่มากมักจะมีปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะในคอนโดที่มีพื้นที่ห้องติดกัน ในช่วงแรกหากเพื่อนบ้านส่งเสียงดัง เมื่อได้มีการบอกกล่าวตักเตือน พูดจาด้วยความประนีประนอมแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอีก การทนอยู่กับเสียงดังยามวิกาลเป็นเวลานาน ๆ ย่อมไม่ดีแน่ เพราะแทนที่คุณกลับจากการทำงานมาจะได้พักผ่อนอย่างสบายใจ แต่ต้องมาถูกรบกวนด้วยมลพิษทางเสียงจากเพื่อนบ้านในคอนโด


 ในเรื่องนี้มีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 มีหลักว่า ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท


มาตรา 370 ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท คือถ้าทำให้คนอื่นเดือดร้อนรำคาญ หรือทำเสียงดังโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว มีโทษสูงสุดปรับ 5 พันบาท กรณีนี้เป็นคดีอาญา แจ้ง ตำรวจ ดำเนินคดีได้เลย ส่วนในทางปฏิบัติ ก็ว่ากันไปตามข้อเท็จจริง


เสียงระดับใดจึงจะถือว่าเป็นเสียงรบกวน หรือมลพิษทางเสียง?
ภาวะมลพิษทางเสียง หมายถึง สภาวะเสียงที่ดังเกินไปจนก่อให้เกิดความรำคาญ หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบการได้ยินของมนุษย์และสัตว์ เช่น เสียงวิทยุ โทรทัศน์ เสียงเครื่องบิน หรือ เสียงการก่อสร้าง เป็นต้น

พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการ ป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษที่เกี่ยวกับเหตุรำคาญด้านพิษทางเสียง

มาตรา 25 ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อน แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ (4) การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือนฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

***จากข้อกฎหมายข้างต้น ตัวอย่างของมลพิษทางเสียงที่พบบ่อย ๆ ในคอนโด เช่น การเปิดเสียงโทรทัศน์ที่ดังมากเกินไป เสียงพูดคุยกัน หรือการกินเลี้ยงที่ส่งเสียงดังในยามวิกาลเป็นเวลานาน จนทำให้คุณนอนไม่หลับ และเกิดความหงุดหงิดรำคาญ ซึ่งคอนโดบางโครงการมีการออกแบบและเลือกใช้วัสดุในการกั้นห้องมาไม่เหมือนกัน หรือประตูของบางโครงการมีช่องเมื่อปิดแล้วจะไม่สนิททำให้เกิดปัญหาเสียงที่ดังเล็ดลอดออกมาจากด้านใน ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากยากเกินที่จะควบคุมหรือจัดการ เราในฐานะเจ้าของร่วมสามารถใช้กฎหมายในการจัดการได้


เพื่อนบ้านจัดปาร์ตี้ เปิดเพลงเสียงดังยามวิกาลในคอนโดเป็นประจำ จะจัดการอย่างไรดี
การจัดปาร์ตี้ ดื่มสุรา และเปิดเพลงเสียงดังของเพื่อนบ้านในคอนโดเป็นประจำ คงทำให้คุณอารมณ์เสียเป็นแน่ เพราะแทนที่จะได้พักผ่อนในบรรยากาศที่เงียบสงบ กลับได้ยินเสียงเพลงดังอึกทึกครึกโครม เสียงคนคุยกันหยอกล้อสนุกสนานเฮฮา และยิ่งไปกว่านั้นบางครั้งเมาแล้วส่งเสียงดังโวยวาย แทนที่คอนโดของคุณจะเป็นพื้นที่แห่งความสุขในการพักผ่อน กลับกลายเป็นว่า บรรยากาศเหมือนมีผับและบาร์อยู่ ใกล้ ๆ ห้องของคุณแทน

เสียงดังที่มาจากงานปาร์ตี้ ดื่มสุรา เมาแล้วโวยวายเป็นประจำ ตามกฎหมายแล้วถือเป็นความผิดทางอาญาลหุโทษฐานส่งเสียง หรือทำให้เกิดเสียง คุณมีสิทธิร้องเรียนจัดการกับเพื่อนบ้านได้ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ดังต่อไปนี้

มาตรา 26
ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจห้ามผู้ใดผู้หนึ่งมิให้ก่อเหตุรำคาญ ในที่ หรือทางสาธารณะหรือสถานที่เอกชนรวมทั้งการระงับเหตุรำคาญด้วย ตลอดทั้งการดูแล ปรับปรุง บำรุงรักษา บรรดาถนน ทางบก ทางน้ำ รางระบายน้ำ คู คลอง และสถานที่ต่าง ๆ ในเขตของตนให้ปราศจากเหตุรำคาญในการนี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเพื่อระงับ กำจัด และควบคุมเหตุรำคาญต่าง ๆ ได้

มาตรา 27
ในกรณีที่มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคล ซึ่งเป็นต้นเหตุ หรือเกี่ยวข้องกับการก่อ หรืออาจก่อให้เกิดเหตุรำคาญนั้น ระงับ หรือป้องกันเหตุรำคาญภายในเวลาอันสมควร ตามที่ระบุไว้ในคำสั่ง และถ้าเห็นสมควรจะให้กระทำโดยวิธีใดเพื่อระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญนั้น หรือสมควรกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ให้ระบุไว้ในคำสั่ง


**ในกรณีที่ปรากฏแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น และเหตุรำคาญที่เกิดขึ้นอาจเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นระงับเหตุนั้นและอาจจัดการตามความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุรำคาญนั้นขึ้นอีก โดยบุคคลซึ่งเป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการก่อหรืออาจก่อให้เกิดเหตุรำคาญต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการนั้น

จากมาตรา 26 และ 27 สรุปได้ว่า
เมื่อเพื่อนบ้านส่งเสียงดังรบกวน คุณสามารถแจ้งนิติบุคคลให้ดำเนินการตามกฎหมายได้ โดยในกรณีที่เพื่อนบ้านจัดปาร์ตี้ เปิดเพลงเสียงดังยามวิกาล ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าไปแจ้งให้เพื่อนบ้านของคุณหยุดส่งเสียงดัง และระงับสถานการณ์ได้โดยชอบตามข้อกฎหมาย ตลอดจน เดินเรื่องทำหนังสือออกคำสั่งแจ้งเตือนเพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก หากฝ่าฝืนก็จะได้รับโทษตามกฎหมายในลำดับต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง



เปิดเพลงเสียงดังรบกวนผู้อื่น


Share:

0 ความคิดเห็น:

Labels

Blog Archive